สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์
จุดกำเนิดหลัก
พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มาตรา 76 บัญญัติให้มี “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา” มีฐานะเป็นนิติบุคคลในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เรียกชื่อโดยย่อว่า “สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.” มีภารกิจหลักเกี่ยวกับการส่งเสริม (1) สวัสดิการ (2) สวัสดิภาพ (3) สิทธิประโยชน์เกื้อกูลอื่น (4) ความมั่นคง (5) ผดุงเกียรติและ (6) การวิจัยเพื่อพัฒนางานตามภารกิจให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาโดยมีกลุ่มเป้าหมายบริการทั้งบุคลากรในประจำการและนอกประจำการจำนวนกว่า 1,000,000 คน
ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 128/1 ถนนนครราชสีมา แขวงดุสิต เขตดุสิต จังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยอยู่ในรั้วเดียวกันกับกระทรวงศึกษาธิการ
ประวัติสำนักงาน สกสค. จังหวัดบุรีรัมย์
สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ หรือเรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน สกสค. จังหวัดบุรีรัมย์” จัดตั้งขึ้นตามข้อบังคับคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่าด้วยการบริหารสำนักงาน พ.ศ.2547 โดยจัดตั้งเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 มีสำนักงานตั้งอยู่ ณ ถนนนิวาศ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ 31000 อาศัยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเดิมเป็นสถานที่ตั้งสำนักงานครั้งแรก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2558 ได้รับงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. จำนวน 6,000,000 บาท (หกล้านบาทถ้วน) เพื่อให้ก่อตั้งสำนักงานใหม่ และได้เปิดใช้สำนักงานเพื่อบริการสมาชิก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558
ปัจจุบันสำนักงานตั้งอยู่ ณ เลขที่ 229/5-6 หมู่ที่ 9 บ้านกุง ตำบลชุมเห็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ 31000
ภารกิจ
สำนักงาน สกสค. จังหวัดบุรีรัมย์ มีภารกิจหลักกับกลุ่มเป้าหมายบริการในจังหวัดนี้ ซึ่งมีจำนวน 36,570 คน ในด้านต่างๆ ดังนี้
- งาน ช.พ.ค. – ช.พ.ส.
- งานสวัสดิการ คุ้มครองสิทธิครู มูลนิธิและกองทุน
- งานประชาสัมพันธ์ การงบประมาณ การบัญชี การพัสดุและอาคารสถานที่
- งานส่งเสริมความสามัคคีและยกย่องเชิดชูเกียรติ
- งานส่งเสริมสุขภาพ งานคณะกรรมการ สกสค. จังหวัด งานโครงการพัฒนาชีวิตครู
ทั้งนี้ได้แบ่งงานในสำนักงาน สกสค. จังหวัดบุรีรัมย์ ออกเป็น 3 งาน คือ
- งานอำนวยการ
- งานสวัสดิการ
- งานสวัสดิภาพ
ข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับบริการ
สมาชิก ช.พ.ค. จำนวน 24,549 คน สมาชิก ช.พ.ส. จำนวน 12,021 คน รวม 36,570 คน